ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ขนาดของประชากร

                ประชากรสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมีขนาดคงที่ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงสั้นๆ เพราะโดยปกติแล้วขนาดของประชากรสิ่งมีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงขนาดของประชากรเกิดขึ้นเมื่อมีสมาชิกเข้ามา หรือออกจากกลุ่มประชากรนั้นๆ เช่น มีการเกิดหรืออพยพเข้า หรือมีการตายและการอพยพออกเกิดขึ้น เป็นต้น
ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงขนาดของประชากร
                การเปลี่ยนแปลงขนาดของประชากรขึ้นอยู่กับอัตราที่มีสมาชิกใหม่เข้ามาในกลุ่มประชากรนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราที่มีสมาชิกออกจากกลุ่มประชากรนั้น ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงขนาดของประชากรดังกล่าว ได้แก่
1. อัตราการเกิด (Birth rate)
หมายถึง การเพิ่มจำนวนสมาชิกใหม่ในกลุ่มประชากร ซึ่งเป็นผลมาจากการสืบพันธุ์ อัตราการเกิดนี้คำนวณได้จากจำนวนของสิ่งมีชีวิตที่เกิดใหม่ต่อจำนวนสิ่งมีชีวิตนั้นจำนวน 1,000 ตัว
1.1 ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเกิด
-  ความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจของคู่สมรส ถ้ามีความสมบูรณ์สูงจะทำให้มีโอกาสมีบุตรได้สูงมากกว่าคู่สมรสที่ไม่มีความพร้อมในด้านร่างกายและจิตใจ
-  ค่านิยมเกี่ยวกับจำนวนบุตรและเพศของบุตร ถ้ามีค่านิยมต้องการมีบุตรน้อยก็จะมีการควบคุมจำนวนบุตร และค่านิยมเกี่ยวกับเพศของบุตร ถ้ายังไม่ได้เพศของบุตรตามที่ต้องการ ก็จะมีบุตรไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้เพศของบุตรตามต้องการ
- ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อทางศาสนา
- ภาวะเศรษฐกิจและสังคม ในประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบทุกประเทศจะมีอัตราการเกิดต่ำ และประเทศที่กำลังพัฒนาเกือบทุกประเทศจะมีอัตราการเกิดสูง
2. อัตราการตาย (Death tate)
หมายถึง การลดจำนวนสมาชิกในกลุ่มประชากร อัตราการตายคำนวณได้จากจำนวนสิ่งมีชีวิตที่ตายต่อจำนวนสิ่งมีชีวิตนั้นจำนวน 1,000 ตัว
2.1 ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการตาย
- รายได้และอาชีพ ผู้ที่มีรายได้ดีย่อมมีโอกาสในการได้รับการดูแลรักษา โรคภัยไข้เจ็บดีกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องใช้แรงงานมากหรืออาชีพที่ต้องเสี่ยงอันตรายมักจะมีอายุสั้น เช่น กรรมกร ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น
- สถานภาพสมรส คนที่สมรสจะมีอัตราการตายน้อยกว่าคนที่เป็นโสด
- สภาพของสิ่งแวดล้อม ชุมชนที่อยู่อาศัย ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะเป็นพิษจะมีอัตราการตายสูงกว่าผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมดี
- การแพทย์และสาธารสุข ถ้าท้องถิ่นที่ใดมีความเจริญในด้านการแพทย์และสาธารณสุข จะมีอัตราการตายน้อย
- อายุ เพศ เชื้อชาติ จะพบว่า ทารกวัยแรกเกิดจะมีอัตราการตายสูง เช่นเดียวกับผู้ที่มีอายุมาก จากการสำรวจพบว่าชายจะมีอายุสั้นกว่าหญิง
3. การอพยพ (migration)
หมายถึง การย้ายที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตจากที่แห่งหนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดของประชากร ทั้งนี้เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายของสิ่งมีชีวิตจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง ทำให้จำนวนสมาชิกของประชากรสิ่งมีชีวิตนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นหรือลดลงได้ ซึ่งการอพยพดังกล่าวนี้มี 2 ลักษณะ คือ
3.1 การอพยพออก (emigration)
เป็นการเคลื่อนย้ายสิ่งมีชีวิตจากประชากรแหล่งเดิมออกไปสู่แหล่งใหม่มีผลทำให้จำนวนประชากรแหล่งเดิมนั้นลดจำนวนลง ซึ่งปัจจัยที่มีผลให้เกิดการอพยพออก ได้แก่
- การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ต้องไปหาแหล่งที่มีทรัพยากรมากกว่า 
- ปัญหาทางด้านรายได้และอาชีพ ทำให้ต้องย้ายไปหาถิ่นที่ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงอาชีพทำให้ต้องย้ายถิ่นออกไป
- เกิดภัยธรรมชาติที่ทำให้บ้านเรือน เรือกสวนไร่นา และทรัพย์สินอื่น ๆ เสียหายจึงต้องอพยพไปหาที่อยู่ใหม่
- ปัญหาขาดความปลอดภัยและความเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องไปอยู่ในแหล่งที่ให้ความปลอดภัย และมีความเป็นธรรมมากกว่า
- ปัญหาการขาดแคลนสถานศึกษา ทำให้ต้องย้ายไปหาแหล่งที่มีสถานการศึกษาที่สูงกว่า และดีกว่า
3.2 การอพยพเข้า (immigration)
เป็นการเคลื่อนย้ายสิ่งมีชีวิตจากประชากรแหล่งอื่นเข้ามารวมกลุ่มกับประชากรที่มีอยู่เดิมทำให้จำนวนประชากรในแหล่งนั้นเพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งปัจจัยที่มีผลให้เกิดการย้ายถิ่นเข้า ได้แก่
- โอกาสของการมีงานทำสูงกว่า และมีอาชีพให้เลือกมากกว่า ซึ่งมักจะอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ จึงทำให้มีคนในชนบทอพยพเข้าเมืองกันมากขึ้น
- โอกาสที่จะยกฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับตนเองและคนในครอบครัวมีสูง
- โอกาสในด้านการศึกษาและฝึกฝนอาชีพ
- ความดึงดูดใจในสภาพแวดล้อมและความปลอดภัย
- กาย้ายตามคู่สมรส บุตร บิดามารดา

สรุป
จากข้อมูลเบื้องต้นเราสามารถแบ่งขนาดของประชากรออกเป็น 3 ขนาดดังนี้
1.             ประชากรที่มีขนาดคงที่
อัตราการเกิด   +   อัตราการอพยพเข้า     =     อัตราการตาย   +   อัตราการอพยพออก
2.             ประชากรมีขนาดเพิ่มขึ้น
อัตราการเกิด   +   อัตราการอพยพออก    >     อัตราการตาย   +   อัตราการอพยพเข้า
3.             ประชากรมีขนาดลดลง
อัตราการเกิด   +   อัตราการอพยพเข้า     <     อัตราการตาย   +   อัตราการอพยพออก

อ้างอิง :
หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานและเพิ่มเติมชีววิทยาเล่ม 6